Loading...

Menu

Menu

ที่ท่องเที่ยว

ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก "ติดลบ"- รถเช่าเชียงใหม่

ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก "ติดลบ"

ความนิยมของรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลกค่ายรถยนต์ชั้นนำเริ่มหันมาทำตลาด ทำให้ยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกเดือน ตั้งแต่ช่วงปี 2018 มาจนถึงกลางปี 2019 กระทั่งในเดือนกรกฏาคม 2019 ตัวเลขยอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าได้ตกลงมาเป็นครั้งแรกในรอบปีกว่าๆ สาเหตุที่ทำให้ตัวเลขลดลงจนติดลบนั้นเกิดขึ้นเพราะ “รัฐบาลจีน” ได้ทำการปรับนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าครั้งสำคัญ


เมื่อจีนปรับลด “เงินสนับสนุน” ทำให้ยอดขาย EV ติดลบ

ปัจจุบันจีนคือประเทศที่มีตลาดรถยนต์ไฟฟ้าใหญ่ และยังเติบโตเร็วที่สุดในโลก

เพราะนอกจากประชากรที่เยอะแล้ว รัฐบาลจีนได้ออกนโยบายสนับสนุนรถยนต์พลังงานทางเลือกที่พวกเขาเรียกว่า New Nergy Vehicles (NEVs) ซึ่งร่วมทั้งรถยนต์ไฟฟ้าล้วน, ปลั๊กอินไฮบริด และรถพลังงานไฮโดรเจน

นโยบายเด่นๆ ที่ทำให้ยอดขาย EV ในจีนเติบโตประกอบไปด้วยปัจจัยหลักๆ 3 ข้อดังนี้

 

1. จัดตั้งจุดชาร์จไฟทั่วประเทศ
มีการสำรวจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2019 ที่ผ่านมาพบว่าจีนมีสถานีชาร์จไฟ ถึง 401,000 แห่งทั่วประเทศ เรียกได้ว่าเป็นประเทศที่มี “ปั๊มรถยนต์ไฟฟ้า” มากที่สุดในโลกอีกด้วย

2. ผลักดันให้ค่ายรถผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
รัฐบาลจีนได้ทำระบบเครดิตมาใช้กับบริษัทรถยนต์ ซึ่งเครดิตที่ว่าคือการต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาขาย

เมื่อขายได้ถึงเป้าค่ายก็จะได้เครดิตมาสะสม และถ้าหากไม่ทำตามก็จะต้องเสียค่าปรับให้กับรัฐ ยกตัวอย่างเช่น…

หากค่ายรถที่ว่าผลิตรถออกมา 30,000 คัน/ปี กฎระบุว่าพวกเขาจะต้องสะสมเครดิตให้ได้อย่างน้อย 10% ของการผลิต ซึ่งก็คือ 3,000 เครดิต

ซึ่งการขายรถยนต์ไฟฟ้าหนึ่งคันจะได้ 3-6 เครดิต (ขึ้นอยู่กับว่ารถคันนั้นมีประสิทธิภาพในแง่การใช้งานเพียงใด) ถ้าตีไปว่ารถยนต์ที่พวกเขาผลิตออกมาได้ 3 เครดิต บริษัทดังกล่าวก็จำเป็นจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาขายให้ได้ปีละ 1,000 คันนั่นเอง ถ้าทำไม่ได้ ก็ต้องเสียค่าปรับให้กับรัฐ แทนการรับเงินสนับสนุน


3. เงินสนับสนุนจากรัฐ

รัฐบาลรู้ดีว่าการจะให้คนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้น ราคาของรถคือปัจจัยที่สำคัญที่สุด ทางการจึงมีการออกนโยบายเงินช่วยสนับสนุนขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้ NEVs เติบโต ด้วยการออกเงินสนับสนุนให้ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ โดยมีจำนวนเงินสูงสุดที่ 50,000 หยวน (ประมาณ 215,000 บาท) ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพรถเช่นกัน หมายความว่า หากราคารถที่โรงงานตั้งมามีราคาขายอยู่ที่ 800,000 บาท คนที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าก็จะเตรียมเงินเพียงแค่ 585,000 บาทเท่านั้น ในการถอยรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้

นโยบายสนับสนุนทำให้ยอดขาย NEVs ในจีนเติบโตขึ้นเร็วมาก เพราะเมื่อรถยนต์ไฟฟ้าที่มีค่าซ่อมบำรุงและค่าเติมพลังงานที่ถูกกว่ารถยนต์น้ำมัน แถมยังมีราคาเท่ารถยนต์น้ำมัน หลายคนจึงเลือกที่จะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทน ทุกอย่างเหมือนจะเป็นไปได้ด้วยดี จนกระทั่งเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ตัดสินใจปรับนโยบายเงินสนับสนุน NEVs ครั้งใหญ่ โดยมีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้

– รถจะต้องทำระยะทางไม่น้อยกว่า 250 กม. จึงจะได้เงินสนับสนุนขั้นต่ำ (จากเดิม 150 กม.)

– ลดเงินสนับสนุนลง 50% จากเดิมรถที่ทำระยะได้เกิน 400 กม. จะได้เินสนับสนุน 25,000 หยวน หรือราวๆ 107,000 บาท (จากเดิม 50,000 หยวน)

– ส่วนรถที่ทำระยะได้ระหว่าง 250 – 399 กม. ปรับลดเหลือ 18,000 หยวน หรือราวๆ 77,000 บาท

หมายความว่า ราคาของรถยนต์ไฟฟ้าในจีนจะไม่ได้ใกล้เคียงกับรถยนต์น้ำมันอีกต่อไป

 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ

Honda Civic ที่จีนมาราคาเริ่มต้นที่ราว 537,000 บาท

ขณะที่ MG ZS EV ก่อนหน้านี้มีราคาอยู่ที่ 599,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่หักเงินสนับสนุนไปแล้ว หมายความว่าราคาเต็มของรถนั้นต้องอยู่ที่ราวๆ 700,000 – 800,000 แสน

แต่เมื่อเงินสนับสนุนถูกลดลงไปครึ่งนึง หมายความว่าค่าตัวของรถจะเพิ่มไปอยู่ที่ราวๆ 650,000 – 700,000 บาท

ทำให้หลายคนคิดว่าการซื้อรถยนต์น้ำมัน และนำส่วนต่างไปเป็นค่าน้ำมันน่าจะเป็นตัวเลือกที่คุ้มค่ามากกว่า การปรับนโยบายครั้งนี้ได้ทำให้ยอดขายของ BYD ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของจีนตกลงมาติดลบในเดือนกรกฏาคม จากเดิมที่ทำได้ยอดเติบโตขึ้นมาตลอด และเมื่อยอดขายในจีนตกลง จึงกระทบไปถึงยอดขายทั่วโลก เพราะอย่างที่บอกว่าปัจจุบันจีนคือตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอันดับ 1


แล้วทำไมจีนถึงตัดสินใจลดเงินสนับสนุน?

ก่อนหน้านี้ หลังจากที่รัฐบาลออกนโยบายเงินสนับสนุน ทำให้ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายหันมาทำตลาดจริงจังกับรถยนต์ไฟฟ้า แต่ไม่ได้มีเพียงบริษัทใหญ่เท่านั้นที่หันมาจับตลาดนี้ ได้เกิดบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าเล็กๆ ในรูปแบบ “สตาร์ทอัพ” เกิดขึ้นมามากมายด้วยเช่นกัน เยอะถึงขนาดที่ว่าในปี 2019 พบว่ามีสตาร์ทอัพทั้งหมด 486 บริษัท เพิ่มขึ้นมา 3 เท่านับจากปี 2017 ที่มีเพียงแค่ไม่ถึง 200 บริษัท เมื่อบริษัทมีมากจนเกินไป สุดท้ายแล้วถ้าปล่อยไปเรื่อยๆ จะยิ่งเสียสมดุล ทำให้รัฐบาลมีความกังวลเกิดขึ้นมาว่าจะเกิด “ภาวะฟองสบู่” ขึ้นมาได้ คาดการณ์กันว่าที่รัฐปรับจำนวนเงินสนับสนุน เพราะต้องการลดจำนวนของสตาร์ทอัพให้น้อยลงนั่นเอง ถึงแม้ยอดขายของรถยนต์จะลดลง แต่พวกเขามองว่าจะเกิดความยั่งยืนในระยะยาวมากกว่าเดิมที่ยอดขายเติบโตมากแต่เสี่ยงที่ฟองสบู่จะแตก

ซึ่งกรณีนี้ เป็นเหมือนการกันไว้ดีกว่าแก้ แต่มองอีกมุมหนึ่งนโยบายที่ว่า ก็ดูจะตึงเครียดเกินไป จนค่ายผู้ผลิตรายย่อยไม่สามารถเกิดใหม่ และมาแข่งขันกับเจ้าใหญ่ในตลาดได้ เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ผลเสียก็อาจจะเกิดขึ้นกับบริษัทรุ่นใหม่ที่จะเข้ามา จนกระทบไปถึงวงการรถยนต์ไฟฟ้าจีนที่จะขาดความสร้างสรรค์ในอนาคต